หลักสูตร

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

วิสัยทัศน์
            ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ สามารถใช้ภาษาสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ  แสวงหาความรู้ ประกอบอาชีพและศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาคมโลกและสามารถถ่ายทอดความคิด วัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์

ภารกิจ
               1. พัฒนาการเรียนการสอนด้านการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆให้เหมาะสมกับวัย โดย  
                  ใช้แหล่งเรียนรู้และกิจกรรมที่หลากหลาย
                2. จัดกิจกรรมพัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบและการคิดอย่างสร้างสรรค์
                3. ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง
                4. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
           

เป้าหมาย

                1. ผู้เรียนมีความรู้สามารถอ่านเขียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆได้
                2. ผู้เรียนสามารถนำความรู้ด้านภาษาอังกฤษไปใช้ในการคิดสร้างสรรค์ผลงานได้
                3. ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยใช้แหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอก  
                  ห้องเรียน
                4. ผู้เรียนสามารถนำความรู้ด้านภาษาอังกฤษไปใช้กับเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้

ทำไมต้องเรียนภาษาต่างประเทศ
ในสังคมโลกปัจจุบัน การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารการศึกษา การแสวงหาความรู้  การประกอบอาชีพ  การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิสัยทัศน์ของชุมชนโลก และตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมุมมองของสังคมโลก นำมาซึ่งมิตรไมตรีและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ  ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นดีขึ้น เรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างของภาษาและวัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณี  การคิด  สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง       มีเจตคติที่ดีต่อการใช้ภาษาต่างประเทศ และใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารได้  รวมทั้งเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้ง่ายและกว้างขึ้น  และมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต
ภาษาต่างประเทศที่เป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐาน ซึ่งกำหนดให้เรียนตลอดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ภาษาอังกฤษ  ส่วนภาษาต่างประเทศอื่น เช่น ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น อาหรับ บาลี และภาษากลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน หรือภาษาอื่นๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษาที่จะจัดทำรายวิชาและจัดการเรียนรู้ตามความเหมาะสม

เรียนรู้อะไรในภาษาต่างประเทศ
                กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  มุ่งหวังให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อภาษาต่างประเทศ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศ สื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ แสวงหาความรู้ ประกอบอาชีพ และศึกษาต่อ ในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาคมโลก และสามารถถ่ายทอดความคิดและวัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์ ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
·    ภาษาเพื่อการสื่อสาร     การใช้ภาษาต่างประเทศในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน  แลกเปลี่ยนข้อมูล  ข่าวสาร  แสดงความรู้สึกและความคิดเห็น  ตีความ นำเสนอข้อมูล  ความคิดรวบยอดและความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ  และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างเหมาะสม 
·    ภาษาและวัฒนธรรม   การใช้ภาษาต่างประเทศตามวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาความสัมพันธ์  ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างภาษากับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา  ภาษาและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษากับวัฒนธรรมไทย  และนำไปใช้อย่างเหมาะสม
·    ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น    การใช้ภาษาต่างประเทศในการเชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น เป็นพื้นฐานในการพัฒนา แสวงหาความรู้ และเปิดโลกทัศน์ของตน
·    ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก     การใช้ภาษาต่างประเทศในสถานการณ์ต่างๆ  ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ชุมชน และสังคมโลก เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการศึกษาต่อ  ประกอบอาชีพ   และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมโลก

สาระและมาตรฐานการเรียนรู้
สาระที่ 1  ภาษาเพื่อการสื่อสาร

มาตรฐาน ต 1.1     เข้าใจและตีความเรื่องที่ฟังและอ่านจากสื่อประเภทต่างๆ  และแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล

มาตรฐาน ต2 . 1.     มีทักษะการสื่อสารทางภาษาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แสดงความรู้สึก และความคิดเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรฐาน ต1.3     นำเสนอข้อมูลข่าวสาร  ความคิดรวบยอด  และความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยการพูดและการเขียน
สาระที่  2  ภาษาและวัฒนธรรม
มาตรฐาน 2.1    เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา และนำไปใช้ ได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ
มาตรฐาน 2.2   เข้าใจความเหมือนและความแตกต่างระหว่างภาษาและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา
กับภาษาและวัฒนธรรมไทย และนำมาใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
สาระที่   3  ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
มาตรฐาน 3.1     ใช้ภาษาต่างประเทศในการเชื่อมโยงความรู้กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น และเป็นพื้นฐานในการพัฒนา  แสวงหาความรู้  และเปิดโลกทัศน์ของตน
สาระที่ 4  ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก
มาตรฐาน 4.1     ใช้ภาษาต่างประเทศในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในสถานศึกษา ชุมชน และสังคม
มาตรฐาน 4.2    ใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ และ   การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมโลก

คุณภาพผู้เรียน
จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
·  ปฏิบัติตามคำสั่ง คำขอร้องที่ฟัง อ่านออกเสียงตัวอักษร คำ กลุ่มคำ ประโยคง่ายๆ และ     บทพูดเข้าจังหวะง่ายๆ ถูกต้องตามหลักการอ่าน  บอกความหมายของคำและกลุ่มคำที่ฟังตรงตามความหมาย ตอบคำถามจากการฟังหรืออ่านประโยค บทสนทนาหรือนิทานง่ายๆ
·พูดโต้ตอบด้วยคำสั้นๆ ง่ายๆ ในการสื่อสารระหว่างบุคคลตามแบบที่ฟัง ใช้คำสั่งและคำขอร้องง่ายๆ  บอกความต้องการง่ายๆ ของตนเอง พูดขอและให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและเพื่อน บอกความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ใกล้ตัวหรือกิจกรรมต่างๆ ตามแบบที่ฟัง
·    พูดให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและเรื่องใกล้ตัว  จัดหมวดหมู่คำตามประเภทของบุคคล   สัตว์ และสิ่งของตามที่ฟังหรืออ่าน
·  พูดและทำท่าประกอบ ตามมารยาทสังคม/วัฒนธรรมของเจ้าของภาษา  บอกชื่อและคำศัพท์ง่ายๆ เกี่ยวกับเทศกาล/วันสำคัญ/งานฉลอง และชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าของภาษา  เข้าร่วมกิจกรรมทางภาษาและวัฒนธรรมที่เหมาะกับวัย
·  บอกความแตกต่างของเสียงตัวอักษร คำ กลุ่มคำ และประโยคง่ายๆ ของภาษาต่างประเทศและภาษาไทย
·  บอกคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
·  ฟัง/พูดในสถานการณ์ง่ายๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
·  ใช้ภาษาต่างประเทศ เพื่อรวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องใกล้ตัว
·  มีทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ (เน้นการฟัง-พูด) สื่อสารตามหัวเรื่องเกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว  โรงเรียน  สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว  อาหาร  เครื่องดื่ม  และเวลาว่างและนันทนาการ  ภายในวงคำศัพท์ประมาณ 300-450 คำ  (คำศัพท์ที่เป็นรูปธรรม)
·  ใช้ประโยคคำเดียว (One Word Sentence) ประโยคเดี่ยว (Simple Sentence) ในการสนทนาโต้ตอบตามสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน

จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
·  ปฏิบัติตามคำสั่ง คำขอร้อง และคำแนะนำที่ฟังและอ่าน อ่านออกเสียงประโยค ข้อความ นิทาน  และบทกลอนสั้นๆ ถูกต้องตามหลักการอ่าน  เลือก/ระบุประโยคและข้อความตรงตามความหมายของสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่อ่าน บอกใจความสำคัญ และตอบคำถามจากการฟังและอ่าน บทสนทนา นิทานง่ายๆ และเรื่องเล่า
·  พูด/เขียนโต้ตอบในการสื่อสารระหว่างบุคคล  ใช้คำสั่ง  คำขอร้อง  และให้คำแนะนำ  พูด/เขียนแสดงความต้องการ  ขอความช่วยเหลือ  ตอบรับและปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ง่ายๆ  พูดและเขียนเพื่อขอและให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง เพื่อน ครอบครัว และเรื่องใกล้ตัว พูด/เขียนแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ใกล้ตัว กิจกรรมต่างๆ  พร้อมทั้งให้เหตุผลสั้นๆ ประกอบ
·  พูด/เขียนให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง เพื่อน และสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว เขียนภาพ แผนผัง แผนภูมิ และตารางแสดงข้อมูลต่างๆ ที่ฟังและอ่าน พูด/เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ใกล้ตัว 
·  ใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง และกิริยาท่าทางอย่างสุภาพ เหมาะสม ตามมารยาทสังคมและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทศกาล/วันสำคัญ/งานฉลอง/ชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าของภาษา เข้าร่วมกิจกรรมทางภาษาและวัฒนธรรมตามความสนใจ
·  บอกความเหมือน /ความแตกต่างระหว่างการออกเสียงประโยคชนิดต่างๆ  การใช้เครื่องหมายวรรคตอน และการลำดับคำ ตามโครงสร้างประโยคของภาษาต่างประเทศและภาษาไทย  เปรียบเทียบความเหมือน/ความแตกต่างระหว่างเทศกาล งานฉลองและประเพณีของเจ้าของภาษากับของไทย 
·   ค้นคว้า รวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นจากแหล่งการเรียนรู้ และนำเสนอด้วยการพูด/การเขียน
·  ใช้ภาษาสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนและสถานศึกษา
· ใช้ภาษาต่างประเทศในการสืบค้นและรวบรวมข้อมูลต่างๆ
·  มีทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ (เน้นการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน) สื่อสารตามหัวเรื่องเกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว โรงเรียน สิ่งแวดล้อม อาหาร เครื่องดื่ม  เวลาว่างและนันทนาการ สุขภาพและสวัสดิการ การซื้อ-ขาย และลมฟ้าอากาศ ภายในวงคำศัพท์ประมาณ 1,050-1,200 คำ (คำศัพท์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม)
·  ใช้ประโยคเดี่ยวและประโยคผสม  (Compound Sentences)  สื่อความหมายตามบริบทต่างๆ